คนเก็บขยะนอกระบบ หรือ ซาเล้งนั้น มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะในเมือง แต่พวกเขามักถูกละเลยในนโยบายและแผนการพัฒนาการจัดการขยะและสวัสดิการงาน
แม้ว่าคนเก็บขยะนอกระบบมีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะในเมือง คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
มีการประเมินว่าบทบาทคนเก็บขยะนอกระบบนั้นมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท ในขณะที่การบริหารจัดการขยะของ กรุงเทพฯ มีมูลค่า 437 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าใจว่ากลุ่มคนเก็บขยะนอกระบบนั้นมีวิธีการเก็บขยะอย่างไร สภาพการทำงานเป็นอย่างไร หรือ โอกาสในการเชื่อมโยงการทำงานกับภาครัฐมากน้อยเพียงใด แม้แต่ คนงานขยะนอกระบบยังไม่ได้รับการยอมรับใน แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ.2563 – 2565)
การตอบคำถามเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสร้างระบบหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมในประเทศไทย
SEI Asia ได้พยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นว่า กลุ่มคนเก็บขยะนอกระบบมีส่วนช่วยในการจัดการขยะได้อย่างไร และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพวกเขาต่อภาคครัวเรือนและหน่วยงานท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ระบบขยะหมุนเวียนที่เท่าเทียมกัน
5 ประเด็นที่เราเรียนรู้ได้จากการทำงานของคนเก็บขยะนอกระบบ ได้แก่
ในประเทศไทย มีแนวคิดเบื้องต้นว่า ระบบการจัดการนอกระบบนั้นประกอบด้วยสามกลุ่มงานคือ ผู้เก็บขยะ หรือ ที่เราเรียกกันว่าซาเล้ง ผู้รวบรวมขยะ หรือ ร้านรับซื้อของเก่า และ ผู้รีไซเคิลขยะ จากการศึกษาของ SEI ในเมืองกรุงเทพฯ ชลบุรี และระยอง เราพบระบบการจัดการขยะนอกระบบนั้นมีอย่างน้อยสิบกลุ่มงานในการจัดการขยะ ซึ่งบางกลุ่มงานนั้นบทบาททับซ้อนกัน (ดูรูปที่ 1)
ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้เก็บขยะนอกระบบยังแยกออกเป็นซาเล้งที่เก็บขยะ และ ซาเล้งที่ซื้อขยะตามครัวเรือน ซึ่งประกอบด้วยพลาสติก เศษเหล็ก กระดาษ และ ขวดแก้ว
ซาเล้งที่ซื้อขยะตามครัวเรือนมีกำลังการซื้อขยะ พวกเขาจะขับซาเล้งไปตามเขตที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ปานกลาง และสูง ซื้อขยะเหล่านั้น และขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า ในทางกลับกัน ซาเล้งที่ซื้อขยะตามเมืองและชุมชน มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองชลบุรีและระยอง พวกเขาไม่มีกำลังซื้อขยะจากครัวเรือน เขาจึงต้องขับวนในหมู่บ้านวันละหลาย ๆ รอบทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน คอยแกะถุงขยะตามถนนและชุมชนและเก็บขยะที่ขายได้ไปขายต่อที่ร้านรับซื้อของเก่าซึ่งเป็นกระบวนการที่สกปรกและยากลำบาก อีกทั้ง ซาเล้งระบุว่า ขยะส่วนใหญ่นั้น ปนเปื้อนเศษอาหาร พวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาสองถึงสามชั่งโมงต่อวันในการล้างขยะก่อนขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า
การเข้าใจความแตกต่างระหว่าง การซื้อขยะ และ การเก็บขยะช่วยทำให้นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบาย เข้าใจถึงเหตุผลที่ผลักดันให้กลุ่มซาเล้งนั้นมาอยู่ที่จุดนี้ได้อย่างไรซึ่งการเก็บขยะสะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องในระบบการดูแลสังคมได้ในระดับหนึ่ง เช่น กลุ่มซาเล้งที่กอบโกยขยะที่เราสัมภาษณ์มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องมาเก็บขยะเพื่อหารายได้ต่อวัน ซาเล้งที่เก็บขยะท่านหนึ่งกล่าวว่า “การเก็บขยะเป็นทางเลือกเดียวที่จะเลี้ยงปากท้อง” ดังนั้น การเข้าใจมุมมองปัญหาของกลุ่มซาเล้งนั้นสามารถช่วยให้ผู้ที่ทำงานด้านการจัดการขยะเชื่อมโยงประเด็นขยะเข้ากับความท้าทายทางสังคมอื่น ๆ ได้ เช่น นโยบายสำหรับการดูแลประชากรสูงอายุของประเทศไทย
ความหนาแน่นของประชากรเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดว่าขยะในเมืองนั้นมีแหล่งกำเนิดที่ใดและมีจำนวนมากแค่ไหน และ ซาเล้งสามารถเข้าถึงได้ยากง่ายเพียงใด
กรุงเทพฯ มีความหนาแน่นของประชากรที่สูง (5,629.96 คน ต่อ ตารางกิโลเมตร) ตัวเมืองมีศูนย์กลางทางธุรกิจที่ถูกพัฒนาในพื้นที่อยู่อาศัยรายได้สูงและปานกลางอยู่หลายจุด ในทางกลับกัน จังหวัดชลบุรีและระยองนั้นมีมีความหนาแน่นของประชากรที่ต่ำ (356.49 คน ต่อ ตารางกิโลเมตร ในชลบุรี และ 258.56คน ต่อ ตารางกิโลเมตรในระยอง) เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่ง พื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงเรียน คอนโดและบ้านจัดสรร ในที่อยู่อาศัยของครัวเรือนรายได้สูงและปานกลางส่งผลให้กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะจำนวนมากให้ซาเล้งมาเก็บ
ขณะที่จังหวัดชลบุรีและระยองมีพื้นที่มากกว่ากรุงเทพฯ ถึงสามเท่าตัว พื้นที่อยู่อาศัยนั้นกระจายออกตามทางหลวงและถนนสายหลัก เนื่องจากลักษณะของเมืองนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรม ปัจจัยนี้ทำให้ซาเล้งเข้าถึงเข้าชุมชนได้ยาก รวมถึงรูปแบบของรถซาเล้งที่เป็นการดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์ไม่เหมาะที่จะวิ่งบนถนนสายหลักซึ่งมีรถบรรทุกสัญจรไปมา
กลุ่มคนงานนอกระบบมีวิธีในการคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก โดยวิธีคัดแยกนั้นอ้างอิงจากการสังเกตทางกายภาพของคนเก็บขยะทั้งสิ้น โดย คนเก็บและคัดแยกขยะจะจัดประเภทพลาสติกเป็นโพลีเมอร์หกชนิด (ดูรูปที่ 2) ยิ่งพอลิเมอร์มีสีน้อยลง (ยิ่งโปร่งใส) ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นเพราะชนิดพลาสติกนั้นมีความยืดหยุ่น สามารถปรับสภาพตามกระบวนการผลิตและความต้องการที่หลากหลาย
วิธีการคัดแยกดังกล่าวมีประสิทธิภาพและใช้อย่างแพร่หลายเพราะมันสะท้อนกระบวนการรีไซเคิลในประเทศไทยอย่างแม่นยำ วิธีการคัดแยกขยะดังกล่าวทำให้คนเก็บและคัดแยกขยะนอกระบบทำงานร่วมกับโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลอย่างเป็นทางการได้อย่างไม่ติดขัดในห่วงโซ่พลาสติก ผู้บริหารโรงงานรีไซเคิลที่รีไซเคิลขวด PET (polyethylene terpthalate) พลาสติก 4,000 ตันต่อเดือนอธิบายว่า “ประเทศไทยมีระบบนิเวศการรีไซเคิลพลาสติกที่ครบถ้วนที่สุดในโลก เพราะว่าประเทศเรามีกำลังจากคนเก็บขยะนอกระบบมาช่วยสนับสนุนรอยต่อการบริหารจัดการขยะของหน่วยงานรัฐและบริษัทรีไซเคิล”
การคัดแยกขยะพลาสติกด้วยวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระบบการจัดการขยะ คนเก็บขยะนอกระบบสามารถสะสมพลาสติกได้มากขึ้นและเพิ่มรายได้ หากมีการคัดแยกขยะพลาสติกในภาคครัวเรือน คนเก็บขยะนอกระบบจะไม่ต้องจัดการกับขยะที่ปนเปื้อน อีกทั้ง ครัวเรือนยังสามารถหารายได้เสริมได้จากการแยกและขายขยะให้กับซาเล้ง ยิ่งไปกว่านั้น เทศบาลสามารถลดกำลังและเวลาในการจัดการกับขยะน้อยลง ด้วยเหตุนี้ ปริมาณงานและต้นทุนก็ลดลงตามกัน
พื้นเก็บขยะในกรุงเทพฯ เป็นปัจจัยที่สร้างข้อจำกัดให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในการเก็บสะสมและคัดแยกขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านรับซื้อของเก่าในกรุงเทพฯ ร้านส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวที่ใช้พื้นที่บ้านของตัวเองในการเก็บและคัดแยกขยะ
ทั้งนี้ ปริมาณพื้นที่จัดเก็บขยะนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับศักยภาพในการหารายได้ของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพราะว่าพื้นที่จัดเก็บขยะเป็นตัวกำหนดปริมาณที่จะขายต่อ เจ้าของร้านรับซื้อของเก่าเจ้าหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่จัดเก็บขยะของเขาไม่เพียงพอและพวกเขามักจะต้องใช้ทางเท้าสาธารณะหน้าบ้านในเป็นพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเก็บขยะ หลายครั้งที่หากไม่มีที่เก็บขยะ พวกเขาต้องขายขยะอย่างทันที
การบูรณาการเก็บขยะนอกระบบเข้ากับการบริหารจัดการขยะของภาครัฐจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เช่น การให้สมาคมเป็นตัวแทนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนจัดการขยะ
การตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของคนงานขยะนอกระบบจะช่วยให้กลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของเขา เราไม่สามารถคาดหวังให้ซาเล้งทำหน้าที่เก็บขยะในเมืองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนใด ๆ โดยเฉพาะซาเล้งที่เป็นผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม การสนับสนุนองค์กรที่เป็นตัวแทนของคนเก็บขยะนอกระบบจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาบทบาทของคนงานนอกระบบใหม่ในการจัดการขยะในเมือง องค์กรที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้คือสมาคมผู้ค้าขายและรีไซเคิล (สมาคมฯ) เดิมจัดตั้งขึ้นเพื่อหยุดประเทศไทยไม่ให้นำเข้าขยะจากต่างประเทศ ปัจจุบัน สมาคมฯ มีสมาชิกกว่า 30,000 คน ซึ่งประกอบด้วยคนงานขยะนอกระบบ ขณะนี้ สมาคมฯกำลังทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานครฯ เพื่อบูรณาการคนเก็บขยะและคัดแยกขยะนอกระบบเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะในเมืองของภาครัฐ
ทั้งนี้ กระบวนการผลิตและบริโภคแบบหมุนเวียน รวมถึงระบบการจัดการขยะไม่สามารถกำหนดได้ด้วยนวัตกรรมทางกระบวนการอุตสาหกรรมหรือความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตเพียงอย่างเดียว การบูรณาการบทบาทของคนเก็บขยะนอกระบบนั้นคือองค์ประกอบสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาระบบการจัดการขยะ
หมายเหตุ: บทความนี้เกิดขึ้นจากการวิจัยที่ SEI Asia ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการขยะขยะนอกระบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก FORMAS และ The Circulate Initiative เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของการรีไซเคิลพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมในเอเชีย
Design and development by Soapbox.