วิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในด้านเศรษฐกิจชีวภาพมีรากฐานจากความต้องการทำให้การเกษตรทันสมัยผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ ในมุมมองของรัฐบาลไทย การดำเนินการเช่นนี้จะสามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประเทศหนึ่ง ๆ มีสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นเพื่อนำพาประเทศไปสู่สถานะรายได้สูงได้
แต่เป้าหมายของรัฐบาลไม่ได้จำกัดเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เศรษฐกิจชีวภาพของไทยยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยได้กำหนดพืชหลักซึ่งรวมถึงอ้อยและมันสำปะหลังสำหรับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งอ้อยและมันสำปะหลังได้รับการเลือกเป็นพืชหลักเนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตทั้งสองชนิดนี้จำนวนมาก และยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่พลาสติกชีวภาพ (จากแป้งมันสำปะหลัง) ไปจนถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ (จากอ้อยและมันสำปะหลัง) ได้
เอกสารบรรยายสรุปอธิบายถึงเอกสารในระดับชาติและเอกสารเฉพาะภาคส่วนที่กล่าวถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทยเช่น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ซึ่งกล่าวถึงความเท่าเทียมทางรายได้ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และบริการสาธารณะ และนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม 10 ด้านทั้งอาหารแห่งอนาคต พลังงานชีวภาพ เคมี ชีวภาพ และการดูแลสุขภาพ ตัวแทนของรัฐบาล องค์กรการค้า และอุตสาหกรรมต่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในประเทศ
ข้อกังวลหลักด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนน้ำและที่ดิน พืชพลังงานอย่างอ้อยและมันสำปะหลังต้องแข่งขันกับพืชเช่นข้าวในการครอบครองพื้นที่การเกษตรที่มีจำกัด การผลิตอ้อยและมันสำปะหลังให้ได้ผลดีจะต้องใช้น้ำจืดที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยของไทยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางซึ่งใช้น้ำฝนเป็นหลัก มีพื้นที่เพียง 10% เท่านั้นที่มีระบบชลประทาน การที่ฝนตกไม่ทั่วพื้นที่และการขาดระบบชลประทานโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังส่งผลให้อ้อยอ่อนไหวต่อภัยแล้ง
การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพยังทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมหลายประการ งานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ครัวเรือนและความเสี่ยงทางสุขภาพที่มากขึ้นเป็นผลกระทบทางสังคมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตของเศรษฐกิจชีวภาพ
การอภิปรายผลระบุว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพไปสู่ความเท่าเทียมทางสังคมและความยั่งยืน ในการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเกิดจากการร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าของมันสำปะหลังและอ้อย นับตั้งแต่ เกษตรกรรายย่อยขนาดเล็กไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ การทำความเข้าใจต่อมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละภาคส่วนในประเด็นของความเท่าเทียม และความยั่งยืน จะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถออกแบบนโยบายและโครงการอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเท่าเทียมและความยั่งยืนได้ในอนาคต