Skip navigation
Perspective

also available in English

บทบาทของชุมชนและการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรตามวิถีประชาธิปไตย: กรณีศึกษาป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวในประเทศไทย

การจัดการพื้นที่ป่าไม้ด้วยการบังคับใช้นโยบายจากเบื้องบนสู่เบื้องล่างนั้นยิ่งจะทำให้เกิดความอยุติธรรมทางสังคมและความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรมากขึ้น แต่การให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมทางเพศนั้นจะเสริมสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของระบบนิเวศในกระบวนการอนุรักษ์ทรัพยากรได้

Pimolporn Jintarith, Jenny Yi-Chen Han, Camille Pross / Published on 23 February 2022
Three women wearing traditional dress and head coverings carrying wicker baskets on their backs with the woman in the centre also carrying a metal pot on top walking down a mountain path in the middle of rice paddies, North Viet Nam

รูปภาพ: Ives Ives / Unsplash.

ความพยายามในการอนุรักษ์ที่ดำเนินการโดยรัฐต่าง ๆ ทั่วโลก มักอยู่ในลักษณะ “การอนุรักษ์แบบตั้งปราการกีดกัน” ซึ่งมองมนุษย์ว่าเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติ แนวทางการอนุรักษ์แบบนี้มีรากฐานมาจากแนวคิดผู้ตั้งถิ่นฐานสมัยอาณานิคม ซึ่งสนับสนุนให้ปิดล้อมธรรมชาติไว้เพื่อปกป้องทรัพยากรจากกิจกรรมของมนุษย์ รวมถึงจากชุมชนท้องถิ่นที่มีความผูกพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับธรรมชาติแวดล้อมนั้น

วิธีการดังกล่าวไม่เพียงแต่มองข้ามความรู้เชิงประจักษ์เกี่ยวกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนเหล่านี้มีอยู่ แต่ยังจำกัดไม่ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงทรัพยากรด้วยการไล่ที่และการแบ่งเขตแดนต่าง ๆ ที่คุกคามความเป็นเจ้าของของคนพื้นเมืองเหนือดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขา

คำถามที่สำคัญคือ นอกจาก “การอนุรักษ์แบบตั้งปราการกีดกัน” จะมีแนวทางอื่นใดที่ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศ วิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น สิทธิในทรัพยากรและศักดิ์ศรีของวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นควบคู่กันไปทั้งสองด้าน

แนวทางการอนุรักษ์เชิงปลดปล่อยอาณานิคมมองเห็นถึงพลวัตแบบอาณานิคมที่ฝังแน่นอยู่ในโครงการอนุรักษ์ต่าง ๆ ซึ่งก็มีโครงสร้างทางอำนาจที่แฝงอยู่เป็นตัวขับเคลื่อนความพยายามและความรู้ในการอนุรักษ์ต่าง ๆ และแนวทางนี้เองที่เสนอให้มองการปกป้องระบบนิเวศเสียใหม่ว่าเป็นผลมาจากชุมชน แทนที่จะให้เป็นการแทรกแซงจากภายนอก

นักวิจัยของสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอล์กโฮม ศูนย์เอเชีย (Stockholm Environment Institute, Asia Centre) ภายใต้โครงการเพศ ความเท่าเทียม ความเสมอภาคทางสังคม และความยากจน (Gender, Equality, Social Equity and Poverty – GESEP) กำลังดำเนินงานเพื่อศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบการอนุรักษ์ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย และรูปแบบการอนุรักษ์ทางเลือกอื่น ๆ และศึกษาผลลัพธ์ของรูปแบบการอนุรักษ์ต่าง ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับเพศและความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยด้วย

ปัจจุบันมีการดำเนินการศึกษาอยู่ 3 กรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีป่าแก่งกระจานที่เป็นถิ่นฐานของชุมชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งแม้จะมีความขัดแย้งมากมายแต่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก (UNESCO) อีกแห่งคืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของคนพื้นเมืองชาวมอแกนที่วิถีชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติ และอีกแห่งคือชุมชนบ้านทุ่งยาวในจังหวัดลำพูนที่ภาคเหนือของประเทศไทย

ในงานชิ้นนี้ เราจะเน้นกรณีบ้านทุ่งยาวเพื่อเป็นต้นแบบแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์ป่าโดยมีชุมชนเป็นผู้นำและมีแนวทางดำเนินการที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ แนวทางนี้ตรงข้ามกับรูปแบบการอนุรักษ์แบบตั้งปราการกีดกันที่เกิดขึ้นในกรณีของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และป่าแก่งกระจาน กรณีของบ้านทุ่งยาวนั้นแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของชุมชนในการปกป้องป่าไม้ และการแสดงนิมิตรหมายอันดีในเรื่องการมีโครงสร้างในการตัดสินใจที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมทางเพศด้วย

บทบาทของสตรีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามจารีตประเพณีที่บ้านทุ่งยาว

บ้านทุ่งยาว ปัจจุบันมีครัวเรือน 286 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 1,044 คนที่ดูแลจัดการพื้นที่ป่า 2500 ไร่ ชีวิตของชุมชนบ้านทุ่งยาวมีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยชาวบ้านใช้ประโยชน์จากไม้ และผลิตผลอื่นๆ จากป่าที่ไม่ใช่เนื้อไม้ ชุมชนเรียกทรัพยากรเหล่านี้ว่า ของหน้าหมู่ หรือ “ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน”

สิ่งที่ทำให้ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของบ้านทุ่งยาวแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ การเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

กลุ่มสตรีในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทุกอย่างและมีอิทธิพลต่อการออกกฎเกณฑ์ของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผู้หญิงยังเป็นผู้จัดการหลักในเรื่องการเงินของชุมชนผ่านกลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน และกองทุนหมู่บ้าน

วิวรรณ กันไชยสัก กรรมการอาวุโสและอดีตหัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านทุ่งยาว เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมของผู้หญิงในการตัดสินใจต่าง ๆ

วิวรรณกล่าวว่า “ในการประชุมหมู่บ้าน จำเป็นต้องมีทั้งคณะกรรมการที่เป็นผู้ชายและผู้หญิง” “ถ้าผู้หญิงไม่สามารถเข้าร่วมได้ การประชุมนั้นจะถูกยกเลิกเนื่องจากเราทุกคนจำเป็นต้องหารือและหาทางแก้ไขร่วมกัน”

ในช่วงทศวรรษที่ 2520 รัฐไทยพยายามเข้าควบคุมการอนุรักษ์ในท้องถิ่นโดยพยายามจัดตั้งวนอุทยานที่บ้านทุ่งยาว ในช่วงแรก ผู้ชายในชุมชนไม่อยากจะคัดค้านการตัดสินใจนี้นักเนื่องจากพวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในท้องถิ่นแล้วและกังวลที่จะสูญเสียเส้นสายเหล่านี้ไปแต่ผู้หญิงในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริงจากป่าไม้อันเนื่องมาจากบทบาทของตนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสังเกตเห็นว่าค่าตอบแทนที่รัฐเสนอให้โดยมากไม่เพียงพอจะชดเชยการสูญเสียสิทธิที่มีตามจารีตประเพณี การดำรงชีพ และวิถีชีวิตของตนหากวนอุทยานดำเนินการต่อไปผู้หญิงได้โน้มน้าวให้ชุมชนคัดค้านการตัดสินใจนี้และมีการประท้วงนำโดยแม่ภาคี หัวหน้ากลุ่มสตรีในขณะนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชุมชน กรมป่าไม้ของไทยจึงยกเลิกการประกาศวนอุทยานป่าชุมชนทุ่งยาวในปี 2532

ทรัพย์อนันต์ วรรณสัก หัวหน้าชุมชนบ้านทุ่งยาว กล่าวว่า “ถ้าพื้นที่กลายเป็นวนอุทยานแล้ว ชุมชนก็จะถูกห้ามไม่ให้เข้าป่าโดยสิ้นเชิง” “จะเอาใบไม้สักใบออกจากป่าก็ไม่ได้ และถ้าเราขึ้นทะเบียนเป็น ‘ป่าชุมชน’ เราต้องรายงานกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับป่า กฎระเบียบนี้เป็นแบบนี้ทุกที่และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร”

ในตอนนั้นเองการประท้วงที่บ้านทุ่งยาวได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นทั้งจากสื่อ นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายที่ตระหนักถึงประโยชน์ของแนวทางการอนุรักษ์ที่จัดการโดยท้องถิ่น จากกรณีตัวอย่างนี้รัฐบาลไทยจึงได้ออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนเพื่อยกระดับและเข้ากำกับควบคุมแนวทางดังกล่าว

สมาชิกบางคนของชุมชนบ้านทุ่งยาวรวมทั้งแม่ภาคีได้มีส่วนร่วมในการร่างนโยบายนั้นแต่พวกเขาสังเกตเห็นว่าความคิดเห็นของพวกเขาถูกละเลยโดยผู้กำหนดนโยบาย และพวกเขาไม่เห็นด้วยกับร่างนโยบายฉบับสุดท้าย ด้วยเหตุนี้บ้านทุ่งยาวจึงยังคง ต่อต้านการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนอย่างเป็นทางการ และยังคงดำเนินการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเองต่อไป

บทเรียนจากบ้านทุ่งยาว

มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จของชุมชนในการต่อต้านแนวทางการอนุรักษ์ของรัฐและรักษาสิทธิในที่ดินของตน และสิทธิในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามจารีตประเพณีของตนเอง

  • การร่วมจัดการเชิงกลยุทธ์: ในขณะที่ระบบการจัดการป่าไม้ชุมชนบ้านทุ่งยาวได้รับความสนใจจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่เข้ามาเสนอให้การสนับสนุน ชาวบ้านยังคงรักษาบทบาทของชุมชนไว้เสมอโดยทำการตัดสินใจร่วมกันว่าชุมชนต้องการมีส่วนร่วมกับใครและต้องการการสนับสนุนแบบไหนจากหน่วยงานภายนอก เช่น โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท (Thai NGO WCARRD) ได้ร่วมมือกับชุมชนมาช้านาน โดยทำหน้าที่หลักเป็นที่ปรึกษาสนับสนุนชุมชนในการปกป้องอัตลักษณ์และสิทธิตามจารีตประเพณีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างนี้ทำให้ชุมชนยังคงความเป็นเจ้าของและมีความรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ มีความเป็นอิสระ และสามารถปรับตัวให้เข้ากับนโยบายและการดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้ ชุมชนเรียนรู้ที่จะบูรณาการขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา และกฎระเบียบที่สามารถปฏิบัติได้จริงในบริบทท้องถิ่นของตนกับการสนับสนุนจากภายนอกที่ตนเองได้รับได้
  • ธรรมาภิบาลของชุมชน: แนวทางประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมเป็นหลักการของการจัดการโดยชุมชน สมาชิกในชุมชนแต่ละคนมีหน้าที่เข้าร่วมการประชุมหมู่บ้านและปฏิบัติตามกฎของชุมชน กฎเกณฑ์สามารถแก้ไขได้เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงโดยดำเนินการผ่านการลงคะแนนเสียงของสมาชิกในชุมชน
  • การเป็นตัวแทนและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของผู้หญิง: ภายในชุมชนนั้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติยังคงแบ่งตามเพศโดยผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงทางอาหารและรวบรวมผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ ในขณะที่ผู้ชายมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่ใช้แรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังคงเป็นผู้จัดการหลักทางการเงินของชุมชนและชุมชนยอมรับความรู้และประสบการณ์ที่ผู้หญิงมีเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าไม้และประโยชน์ของมัน สิ่งนี้เองได้มีส่วนทำให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงเป็นสิ่งจำเป็นในการประชุมของชุมชนและในการสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของชุมชน
    บทบาทอำนาจของผู้หญิงได้เด่นชัดขึ้นเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จในการนำชุมชนล้มเลิกการตัดสินใจของรัฐในการเปลี่ยนบ้านทุ่งยาวให้เป็นวนอุทยาน

สิ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างอุทยานแก่งกระจานกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์และบ้านทุ่งยาวคือ ชุมชนบ้านทุ่งยาวมีสถาบันท้องถิ่นที่เข้มแข็งทำให้ชุมชนสามารถปกป้องตนเองจากการแทรกแซงของรัฐในการอนุรักษ์ป่าของท้องถิ่น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ระบบที่สร้างขึ้นโดยบ้านทุ่งยาวนั้นยังสะท้อนถึงรูปแบต่าง ๆ ตามแนวทางการอนุรักษ์แบบตั้งปราการกีดกัน ด้วยการมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดว่าเมื่อใด ที่ไหน ทรัพยากรป่าไม้ใดที่สามารถนำไปได้ และใครนำไปใช้ได้รวมทั้งผลที่จะเกิดแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างที่สำคัญคือ การมีกระบวนการประชาธิปไตยของท้องถิ่นในการออกกฎเหล่านี้ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของท้องถิ่นและความรู้ของท้องถิ่นว่าควรปกป้องทรัพยากรอย่างไร การมีเจตจำนงของตนเองนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องทั้งระบบนิเวศและศักดิ์ศรีของมนุษย์

แปลโดย โรจน์ทรัพย์ฤทธิ์ แสงทอง

เขียนโดย

Design and development by Soapbox.